โรคเก๊าท์ สาเหตุและการรักษา
2016-09-12 12:59:00

โรคเก๊าท์ สาเหตุและการรักษา

 

      โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะเพศชายตั้งแต่วัยกลางคนเป็นต้นไป และจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิง โรคนี้ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากต่อผู้ป่วย เนื่องจากจะมีข้ออักเสบเกิดอย่างรุนแรง  จนทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวขยับข้อได้เหมือนปกติ หากรักษาอย่างไม่ถูกต้อง จะเป็นซ้ำๆ จำนวนข้อที่ปวดจะเพิ่มมากขึ้น จนมีอาการอักเสบเป็นเรื้อรัง เกิดภาวะทุพพลภาพได้ โรคนี้เกิดจากการสะสม กดเบียด และทำลายข้อโดยการตกตะกอนของผลึกเกลือยูเรต หากได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว การรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะสามารถหายจากการอักเสบ ไม่เกิดภาวะพิการ และลดปัญหาหาแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้

 

 

อาการและอาการแสดง

 

     อายุเฉลี่ยที่แสดงอาการครั้งแรกจะอยู่ในช่วง 40-60 ปี โดยเฉพาะเพศชาย แต่เมื่อมีอายุมากกว่า 60 ปี เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น ข้อที่อักเสบมักเป็นส่วนล่างของร่างกาย เช่น ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อที่พบรองลงมาได้แก่ ข้อโคนนิ้วเท้า ข้อนิ้วเท้า และข้อเข่า เป็นต้น ข้อจะมีการอักเสบที่รุนแรงเกิดขึ้นรวดเร็วในเวลาเป็นชั่วโมง ข้อบวมแดงร้อน ทรมานอย่างมาก ไม่สามารถเดินหรือทำงานได้ตามปกติ บางรายที่มีการอักเสบมาก หรือเป็นที่ข้อใหญ่ อาจมีไข้ตามมาได้ ส่วนใหญ่การอักเสบจะเป็นอยู่ 2-3 วัน อาจถึง 1 สัปดาห์ อาการปวดและบวมสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรับการรักษา แต่จากการอักเสบที่เป็นรุนแรงจำเป็นจะต้องได้รับยาบรรเทาการอักเสบ

 

 

 

 

     หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีข้ออักเสบเกิดขึ้นซ้ำและถี่ขึ้นเรื่อยๆ จากปีละ 1-2 ครั้ง เป็นปีละหลายครั้ง และในแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาของการอักเสบนานขึ้น จำนวนข้อครั้งรกที่มีเพียงข้อเดียว ก็จะมีการอักเสบพร้อมกัน 2-3 ครั้ง จนถึงหลายข้อได้ และในที่สุดก็จะเกิดข้ออักเสบเรื้อรังจากระยะของโรคที่เป็นมานาน ทำให้มีการสะสมของผลึกเกลือยูเรตที่บริเวณข้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถมองเห็นได้ จุดที่พบบ่อยก็คือ บริเวณข้อหิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อศอก และใบหูก็พบได้ ลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีขาวออกเหลืองเรียกว่า โทฟัส (tophus) ถ้าก้อนโตมากอาจแตกออกมาได้ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อโรคไต เนื่องจากกรดยูริกในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องจนเกิดการสะสมและตกตะกอนที่เนื้อไต ทำให้ไตทำงานผิดปกติ หรือทำให้เกิดนิ่วของระบบทางเดินปัสสาวะได้

 

 

 

การตรวจค้นและวินิจฉัย

 

 

 

     การวินิจฉัยโรคจะอาศัยอาการและอาการแสดงที่เข้าได้ร่วมกับการนำน้ำไขข้อ จากข้อที่อักเสบไปตรวจ โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ หรือกล้องชนิดพิเศษที่เรียกว่า กล้องโพลาไรท์ (polarized light microscopy) โดยจะเห็นผลึกเกลือยูเรตถูกจับกินโดยเม็ดเลือดขาว ในกล้องจุลทรรศน์ หรือ กล้องโพลาไรท์ ซึ่งจะสามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

 

     นอกจากนี้โรคเก๊าท์ในระยะที่มีโทฟัสยังสามารถเห็นการเปลี่ยนทางรังสี ที่ค่อนข้างจำเพาะ ซึ่งจะช่วยประกอบการวินิจฉัยโรคได้ สำหรับการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับกรดยูริกนั้น ในขณะที่ผู้ป่วยมีข้ออักเสบอยู่ อาจมีระดับที่สูงหรือไม่ก็ได้ จึงไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค ดังนั้นควรเจาะเลือดหลังจากที่ข้ออักเสบหายดีแล้วระยะหนึ่ง โดยไม่มีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบกับระดับกรดยูริกในเลือด เช่น ภาวะขาดน้ำ หรือ ยา เป็นต้น

 

 

แนวทางการรักษา

 

การไม่ใช้ยา

     ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูงในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารประเภทเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนื้อสัตว์แดงๆ และเครื่องดื่มรสหวานที่มีน้ำตาลฟรุคโตส เพราะอาจทำให้มีการกำเริบของโรค หรืออาจทำให้ควบคุมโรคได้ยากขึ้น จากการที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น การเลือกใช้ยาต่างๆ ในผู้สูงอายุจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามียาที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นหรือไม่ เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาขับปัสสาวะ เนื่องจากจะทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นโรค หรือกระตุ้นให้ข้ออักเสบได้

     ควรงดการบีบนวดบริเวณข้อที่มีการอักเสบ เพราะอาจทำให้ข้ออักเสบนานหรือรุนแรงขึ้นได้ ให้พักการใช้ข้อ 2-3 วันแรก ที่มีการอักเสบมาก ประคบเย็น หลังจากนั้นให้เริ่มขยับข้อเคลื่อนไหว เพื่อลดการติดยึดของข้อ

 

 

 

การใช้ยา

1.  การใช้ยาลดการอักเสบ

     ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาลดการอักเสบ เนื่องจากการอักเสบเป็นรุนแรง การเลือกใช้จะคำนึงถึงผลดี และผลเสียของยาแต่ละชนิดในผู้ป่วยสูงอายุแต่ละรายซึ่งมีภาวะทางสุขภาพ หรือข้อจำกัดการใช้แตกต่างกัน ได้แก่

     1.1 ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) มีหลายชนิด ส่วนใหญ่จะให้ระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 7 วัน ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างมากในผู้สูงอายุ ทั้งระบบทางเดินอาหาร ไต หัวใจ และหลอดเลือด การใช้ยาจึงต้องพิจารณาถึงผลดีและผลเสีย รวมทั้งข้อห้ามของการใช้ยาด้วย

     1.2 โคลซิซิน (colchicine) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบใช้ได้ผลดีโดยเฉพาะเมื่อให้ตั้งแต่เริ่มมีข้ออักเสบใหม่ๆ ภายในวันแรก การตอบสนองจะลดลงถ้าให้ในวันหลังๆ ของโรคขนาดที่ใช้ในการรักษา ครั้งละ 1 เม็ด (0.6 มิลลิกรัม) วันละ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการทำงานของไต กินจนหายอักเสบ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ท้องเดิน เมื่อมีอาการท้องเดินให้หยุดยา

     1.3 คอร์ติโคสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดี มีทั้งชนิดกินและชนิดฉีด ปกติจะไม่ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาเนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง จะใช้ทดแทนในกรณีที่ใช้ยาตัวอื่นไม่ได้

 

2. การใช้ยาเพื่อป้องกันการอักเสของข้อ

     เมื่อหายจากข้ออักเสบแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำใหม่ การให้ยาโคลซิซินจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดไม่ให้เกิดข้ออักสบซ้ำ กล่าวคือ ควบคุมการกำเริบของโรคได้ ยานี้ใช้ป้องกันโรค ยานี้ใช้ป้องกันโรค เมื่อมีข้ออักเสบตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี

 

3. การใช้ยาเพื่อลดระดับกรดยูริกในเลือด

     ยากลุ่มนี้มีเป้าหมายที่จะควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทำให้ลดการสะสมผลึกเกลือยูเรตที่ข้อ จนหมดในที่สุด จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องกินอย่างสม่ำเสมอและตรวจระดับกรดยูริกในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่ การกินยาไม่ต่อเนื่องจะทำให้การรักษาไม่ได้ผล มีโอกาสโรคกำเริบ และเสี่ยงต่อการแพ้ยาสูง ยามี 3 กลุ่มได้แก่

     3.1 ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต ได้แก่ probenecid, sulfinpyrazone และ benzbromarone การใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องไม่มีนิ่วที่ไต หรือโรคไตอยู่ก่อน

 

     3.2 ยาลดการสร้างกรดยูริกในร่างกาย ได้แก่ allopurinol ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม xanthine oxidase inhibitor การรักษาต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานจึงจะเห็นผล การกินยาไม่ส่ำเสมอ หรือกินร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ มีโอกาสแพ้ยาง่าย และแพ้อย่างรุนแรงได้ การเริ่มยาควรเริ่มขนาดน้อยก่อน และค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ยา ที่สำคัญคือไม่ควรเริ่มใช้ยา หรือปรับขนาดยาในขณะที่ข้ออักเสบอยู่เพราะจะทำให้ข้อเกิดการอักเสบต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น

 

 

การรักษาอื่นๆ

 

     ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มักจะพบโรคอื่นร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ในเลือดสูง หรือภาวะอ้วน ดังนั้นจำเป็นต้องตรวจหาว่ามีภาวะดังกล่าวหรือไม่ ถ้าหากพบก็ให้การดูแลรักษาไปพร้อมๆ กันด้วย นอกจากนั้นหากพบสาเหตุอื่นที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง จำเป็นต้องรักษาสาเหตุหรือโรคนั้นด้วย

 

 

 

..........................................................................................................

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณรูปภาพจาก www.thaihealth.or.th / frynn.com / www.ovolva.com

 


Admin :
view
:
3298

Post
:
2016-09-12 12:59:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น