โรคข้อเข่าเสื่อม กับทางเลือก และ การดูแลรักษา ที่สามารถเริ่มต้นทำได้เองไม่ยาก
2016-03-01 19:10:41

โรคข้อเข่าเสื่อม กับทางเลือก และ การดูแลรักษา

ที่สามารถเริ่มต้นทำได้เองไม่ยาก

 

   ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการมีประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่า กำลังก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ ในเวลาอันใกล้นี้

 

 

   ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ออกมาเปิดเผยจำนวนผู้สูงอายุชาวไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5 แสนคน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” จากสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงไปตามกาลเวลาของมนุษย์เรา รวมถึงระบบการทำงานต่างๆในร่างกายมีประสิทธิภาพน้อยลงนั้น หนึ่งในโรคที่พบบ่อยนั้นก็คือ โรคเข่าเสื่อม และหรือข้อเข่าเสื่อม ที่สร้างความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งให้กับผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากในปัจจุบันอยู่นั่นเอง

 

 

   โดย นพ.ธนันท์ สมิทธารักษ์  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ  สถาบันกระดูกและข้อ รพ.ปิยะเวท  ได้กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งเป็นผลมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นและการใช้งานมาก มีการใช้งานผิวข้อที่สึกจะมีการขัดสีกัน ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าตามมาพบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุจะมีอาการปวด เข่าบวมแดง เข่าฝืด ยึด มีเสียงดังในเข่า ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ

 

   ซึ่งอาการโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการแรกเริ่ม ปวดเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อพักการใช้เข่า อาการปวดจะทุเลา และปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อมากขึ้น ในรายที่เป็นมากจะปวดตลอดเวลา ข้อฝืด ใช้งานไม่ถนัด  ข้อผิดรูป  ข้อเข่าจะเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม  เข่าบวมโต หรือบางรายมีขาโก่งออก  แทนที่ผิวข้อเข่าเดิมที่เสื่อมชำรุดไป

 

   ส่วนแนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้เป็นหลัก เช่น การทำกายภาพบำบัด  การบริหารกล้ามเนื้อ  หรือการให้ยาบรรเทาอาการสำหรับผู้ที่มีอาการไม่มาก แต่สำหรับผู้ที่มาด้วยอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างชัดเจนนั้น  แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีฉีดน้ำไขข้อเทียมเพื่อลดอาการปวด  หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาจะทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

 

 

   การฉีดน้ำไขข้อเทียม น้ำไขข้อเป็นสาร สาร Hyaluronic Acid (HA) เป็นสารที่มีอยู่ในข้อของมนุษย์ มีลักษณะที่เหนียว และยืดหยุ่นสูงทำให้ข้อต่างๆ โดยเฉพาะผิวกระดูกข้อเข่าไม่ได้รับแรงกด หรือกระแทกมาก เวลาคนเราเดิน หรือวิ่ง นอกจากนั้น สารนี้ยังช่วยให้เกิดความลื่นที่ผิวกระดูกอ่อนเวลางอหรือเหยียดหัวเข่า การเสียดสีที่ผิวกระดูกจะน้อยลง ทำให้กระดูกอ่อนผุกร่อนลดน้อยลงตามไปด้วย ส่งผลให้ข้อเข่าอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนน้อยลงเช่นกัน

 

   ปกติแล้วคนเราจะมีน้ำในข้อเข่าอยู่ประมาณ 1-2 ซีซี เท่านั้น เมื่ออายุมากขึ้นน้ำในข้อเข่าก็จะมีปริมาณลดลงโดยเฉพาะคนที่เป็นข้อเข่าเสื่อม มักพบว่าน้ำในข้อเข่ามีปริมาณที่น้อยมาก คนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงน้ำในเข่าแทบจะแห้งผากจนไม่มีเหลือเลย สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คืออาการของข้อเข่าเสื่อมจะลุกลามเร็วมากขึ้นไปอีก บางคนเข่าโก่งขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดภายใน 1 ปี และสำหรับผู้ที่มีอาการมาก ๆ หรือได้รับการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผลแพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ในปัจจุบันสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงธรรมชาติ และเป็นวิธีการรักษาที่ลดอาการปวดได้ดี มีอายุการใช้งานประมาณ 10 – 15 ปี โดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น รพ.ปิยะเวทได้นำคอมพิวเตอร์นำวิถีเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ร่วมกับเทคนิคการรักษาแบบไม่ต้องปักหมุด  เปรียบเสมือนการสร้างภาพจำลองในระบบคอมพิวเตอร์  หรือ Image guided surgery by Navigation system นวัตกรรมดังกล่าวนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมปรับตำแหน่ง ตรวจสอบทิศทางและตำแหน่งของการวางข้อเทียมในร่างกายรวมถึงบอกขั้นตอนการผ่าตัด โดยสามารถบอกตำแหน่งการวางข้อเทียมได้ละเอียด ขนาดเป็นหลักเศษส่วนของมิลลิเมตร หรือ เศษส่วนขององศา มุม

 

   ประโยชน์ต่อศัลยแพทย์ ก็คือ สามารถช่วยศัลยแพทย์ให้ทำการตัดสินใจโดยทราบข้อมูลล่วงหน้าได้ในเวลาที่เหมาะสม เป็นการช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาของการวางข้อเข่าเทียมในร่างกายคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งที่ควร ยิ่งร่วมกับการผ่าตัดด้วยเทคนิคเฉพาะแบบไม่ต้องปักหมุดเพิ่มที่กระดูกต้นขาและหน้าแข้ง (Pinless Computer Assisted Navigation TKA)  ผู้ป่วยจะไม่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก หรือแตกจากการปักหมุดในวิธีการรักษาแบบเดิม ๆ ที่ต้องทำการปักหมุดถึง 4 จุด ทำให้ไม่มีแผลเพิ่มจากการปักหมุด ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว เพราะเกิดการบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อย

 

 

   แต่ถึงอย่างไรก็ตามแต่การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดก็เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ ทุกวิธีการรักษาจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการปวด ทำให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันดีขึ้น คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม นั่นก็หมายถึงการรักษาที่ปลายเหตุ  การดูแลและป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคข้อเข่าเสื่อมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด

 

   สำหรับการดูแลรักษาสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมจะต้องบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า ใช้สนับเข่าในรายที่เข่าเสียความมั่นคง เพราะสนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมในข้อเข่าเร็วขึ้น หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น  เพราะเข่าจะต้องรับน้ำหนัก ประมาณ 3-4  เท่าของน้ำหนักตัว และถ้ามีอาการปวดข้อหรืออาการกล้ามเนื้อเกร็ง ให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ การดูแลข้อเข่าอย่างถูกต้องและเหมาะสม  จะช่วยชะลอความเสื่อม  และยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการใช้ข้อเข่าได้

 

   สรุปแล้วสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่าหรือเคลื่อนไหวร่างกายแล้วมีเสียงดัง แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อตั้งแต่แรก ก่อนที่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ไม่ควรทนปวดหรือหาซื้อยามารับประทานเอง เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ข้อเข่าอาจจะเสี่ยงที่ข้อเข่าจะเสื่อมสภาพจนยากที่จะรักษาให้กลับมาให้มีสภาพเดิมได้ และก็อาจจะกลายเป็นคนแก่ที่พิการได้ในท้ายที่สุด ซึ่งคงไม่เป็นการดีแน่ๆ

 

 

   ดังนั้นในขณะที่เรายังสามารถดูแลตัวเองได้อยู่นั้นควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง ตั้งแต่ยังอายุน้อยๆจะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าให้สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้นานมากยิ่งขึ้น ควรระมัดระวังการยกของหนัก หรือการยกที่ผิดท่าผิดวิธี ตลอดจนการดำเนินชีวิตและการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเข่าและข้อ ที่จะทำให้คุณต้องเจ็บป่วยทรมานและหรือรำคาญใจ เพราะเมื่อเข้าสู่วัยชราเราจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้อย่างสมควร

 

...................................................................................................

 

ขอขอบคุณข้อมูลโดย : นพ. ธนันท์ สมิทธารักษ์  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท , www.triptravelgang.com , M2F WORK & LIFE , พร้อมสอบถามข้อมูลจริงจากผู้ป่วยบางท่านเพิ่มเติม ; ขอขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก : ww.health2click.com / www.health.mthai.com / www.wowgolfer.com / 


Admin :
view
:
2823

Post
:
2016-03-01 19:10:41


ร่วมแสดงความคิดเห็น