โบสถ์ในต้นไม้
2017-02-27 12:11:00

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีค่ายบางกุ้ง อยู่ที่จ.สมุทรสงคราม ยังคงมีสภาพรกร้างหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มไปหมดมีเพียงทางเดินที่เข้าไปสู่ โบสถ์ปรกโพธิ์ เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น

 

โบสถ์ปรกโพธิ์ หมายถึงพระอุโบสถ์ซิ่งถูกโอบล้อมด้วยต้นโพธิ์ขนาดใหญ่มหึมาเป็นระยะเวลาช้านาน ทำให้ภาพของโบสถ์แห่งนี้มองดูคล้าย ๆ กับโบสถ์ที่ถูกสร้างไว้ในต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นภาพที่หาดูได้ยากและอาจเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ ในอดีตค่ายบางกุ้ง เคยเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างทหารไทยและพม่า ในปีพุทธศักราช 2311 ผ่านทั้งความเจริญและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและยุคสมัยมาเป็น 100 ปี พิษภัยแห่งสงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้ทั้งชาวบ้านพระเณรต่างทิ้งวัดบ้านเรือน หนีภัยสงคราม วัดบางกุ้งน้อย วัดบางกุ้งใหญ่ ก็อยู่ในสภาพทรุดโทรม ในที่สุดวัดบางกุ้งน้อยจึงอยู่ในสภาพร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ส่วนวัดบางกุ้งใหญ๋แม้จะมีพระจำพรรษาอยู่น้อยมาก แต่ก็ยังคงความเป็นวัดอยู่

 

วัดบางกุ้งใหญ่ คือ วัดบางกุ้งในปัจจุบัน โดยผนวกยุบรวมวัดบางกุ้งน้อยให้เป็นวัดเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญอีกแห่งหนึ่งในจ.สมุทรสงคราม อดีตเคยเป็นค่ายทหารเรือในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้ทรงนำทัพมารบกับพม่าข้าศึก ที่เข้ามารุกรานแผ่นดินไทย ณ สมรภูมิค่ายบางกุ้งแห่งนี้ จากชัยชนะในการรบครั้งนั้น มีผลดีต่อชาติไทยหลายประการ ที่สำคัญยิ่งคือขวัญและกำลังใจของคนไทย ที่เกือบจะสูญสิ้นไปกับการพม่าที่ค่ายบางกุ้ง เป็นสงครามครั้งแรกที่ไทยรบกับพม่า ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทำให้ขวัญและกำลังใจของคนไทยกลับคืนมา

 

และในปีพุทธศักราช 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพไปรบกับพม่าที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี ในการเดินทัพครั้งนั้น พระองค์ได้มาหยุดกองทัพพักพล และเสด็จเสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2317 จึงถือได้ว่าวัดบางกุ้งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกแห่งกนึ่ง ที่เราควรมาทำความรู้จักและศึกษาประวัติความเป็นมา เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นหลังได้ทราบความเป็นมาของวัดบางกุ้งโดยละเอียด วัดบางกุ้งเป็นพระอารามชนิดวัดราษฏร์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง อยู่เลขที่ 55 อยู่ 4 ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม มีเนื้อที่ 32 ไร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างว่าเมื่อใด สันนิษฐานว่าเป็นวัดราษฏร์ คือ วัดที่ประชาชนชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น

 

จากการศึกษาสงครามในครั้งนั้น ก็ได้มีชาวบ้านจากอยุธยาและสุพรรณบุรี หนีภัยสงคราม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองและตั้งชื่อหมู่บ้านบางกุ้งตามชื่อหมุ่บ้านเดิม เกิดเป็นชุมชนใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นที่นี่แล้วสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ชื่อว่าวัดบางกุ้ง ตามชื่อหมู่บ้านและถิ่นฐานเดิม ต่อมามีผู้คนอพยพมาเพิ่มเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น มีการแบ่งชั้นวรรณะ คนจน คนรวย พวกที่มาอยู่ภายหลัง จึงสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง ชื่อว่า วัดบางกุ้งน้อย ส่วนวัดที่สร้างขึ้นก่อนนั้น เรียกว่าวัดบางกุ้งใหญ่ จึงเกิดเป็นสองวัดด้วยกัน มีอาณาเขตติดต่อกัน มีเพียงคลองคั่นระหว่างกลางไว้ อุโบสถของทั้งสองวัดนี้ห่างกันเพียง 200 เมตรเท่านั้นในบริเวณนี้ทั้งหมดจึงเรียกว่า บ้านบางกุ้ง หรือ หมู่บ้านบางกุ้ง

 

ต่อมาในแผ่นดินสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) เกิดสงครามไทยกับพม่า พระองค์ได้โปรดให้ยกกองทัพเรือ มาตั้งค่ายโดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งไว้จึงเรียกว่า ค่ายบางกุ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังดำรงตำแหน่งพระยาตากสิน ได้นำทหารเอกคู่ใจและไพร่พลจำนวนหนึ่ง ตีฝ่าวงล้อมพม่ามายังหัวเมืองชายทะเลทางตะวันออก และได้รวบรวมไพร่พลตั้งฐานที่มั่นที่เมืองจันทบุรี เพื่อเตรียมตัวที่จะเข้ามากอบกู้เอกราชคืน พระองค์ได้ส่งกองอาสาไทย-จีน ล่วงหน้ามาตั้งกองกำลังที่ค่ายบางกุ้ง โดยรวบรวมคนจีนจาก ระยอง จันทบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี มาเป็นกำลังพล จึงเรียกค่ายบางกุ้งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง มีหัวหน้าเป็นคนจีนชื่อ ท้ง แซ่เจียม เป็นแม่ทัพคุมทหารภักดีอาสา

 

อุโบสถปรกโพธิ์ในปัจจุบันคือ อุโบสถเก่าของวัดบางกุ้งน้อยหลวงภักดีอาสาได้เร่งก่อตั้งเปลี่ยนแปลงซ่อมแซมค่ายขึ้นใหม่ตามหลักพิชัยสงครามของจีน โดยก่ออิฐถือปูนขึ้น เป็นป้อมเชิงเทิน กำแพงยาวไปตามลำน้ำแม่กลอง ตั้งต้นแต่คลองบ้านค่ายจดแหลมเตย โดยให้วัดบางกุ้งอยู่กลางค่ายซึ่งก่อสร้างตามหลักตำราพิชัยสงครามของง่อกี้ คือ จัดตั้งค่ายในรูปมังกรโอบหน้าเปิดหลังปิด เพื่อสะดวกในการตั้งรับกองทัพข้อศึก โดยรับศึกด้านหน้าเพียงด้านเดียว ในศึกครั้งนั้น พม่ายกพลมาถึง 2,000 คนเศษ พม่าพยายามตีค่ายบางกุ้งอยู่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้ยกกองทัพมาปราบพม่าด้วยพระองค์เอง และมีชัยชนะในศึกครั้งนี้โดยเด็ดขาด พม่าล้มตายแตกพ่ายสิ้น ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายในน้ำบนบกเป็นอันมาก

 

พระเกียรติยศของพระเจ้าตากสินลือชาปรากฎขจรขจายไปทุกทิศ เป็นที่คร้ามเกรงแก่ปัจจามิตร เปรียบดังพระยาไกรสรราชสีห์ อันมีฤทธิ์เป็นที่คร้ามแก่หมู่สัตว์จตุบาททั้งปวง นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีปรากฎว่ามีข้าศึกล่วงล้ำเข้ามารบกวนถึงเมืองสมุทรสงครามอีกเลย เมืองสมุทรสงครามก็ร่มเย็นเป็นสุขสืบมาเป็นเวลาช้านาน

 

Credit : ปางบรรพ์ , Pailin , oknation.nationtv.tv , thaiza.com , smiletravel.in.th , naihua.net , wikimedia.org , reviewthaitravel.com

by Admin Park


Admin :
view
:
3999

Post
:
2017-02-27 12:11:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น