การสร้างพระบรมหาราชวัง
2014-10-22 14:52:20

 

 
 
     พระบรมมหาราชวังหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า "วังหลวง"ในทุกวันนี้เริ่มสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2325 หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1ทรงเห็นว่าพระราชวังกรุงธนบุรีนั้นตั้งอยู่ในปราการที่เป็นรองข้าศึก ในยามสงครามก็ยากต่อการส่งกำลังพลเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างขวางกั้นอยู่ และยังยากต่อการขยายอาณาเขตของตัวพระราชวังเพราะพระราชวังกรุงธนบุรีขนาบไปด้วยวัดทั้ง2คือวัดอรุณฯและวัดโมลีฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1จึงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนสถานที่ตั้งของพระราชวังมาอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกว่าฝั่งพระนครนั่นเอง
 
กำเนิดพระราชวัง
   
     โดยการเลือกที่ตั้งของพระบรมหาราชวังแห่งใหม่นี้พระองค์ทรงนำรูปแบบของการตั้งทัพจากตำราพิชัยสงคราม โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้พระบรมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นศูนย์กลางในการปกครองราชอาณาจักร และทำหน้าที่เป็นค่ายหลวง ซึ่งเป็นกองทัพใหญ่และเป็นกองทัพสุดท้ายของเหล่าทหารมหาดเล็ก ทหารรักษาพระองค์ ที่ทำหน้าที่คอยถวายความปลอดภัยแก่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์
 
 
 
จากภาพชุดที่1 แสดงผังของพระราชวังกรุงธนบุรี ตำหนักเก๋งจีนที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และพระบรมศาทิศลักษณ์รัชกาลที่1ผู้ย้ายราชธานีไปยังแห่งใหม่
 
 
     ทางด้านทิศเหนือโปรดให้สร้างพระราชวังหน้า(ปัจจุบันคือบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)เพื่อเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชหรือองค์รัชทายาท พระราชวังหน้านี้ถือว่าเป็นค่ายด่านหน้าหรือทัพหน้าที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะมีหน้าที่คอยยั้งมิให้ข้าศึกเข้าประชิดกำแพงพระบรมหาราชวังได้
 
     ทางด้านทิศตะวันตกอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับพระราชวังหน้าโปรดให้สร้างพระราชวังหลังขึ้น (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นทัพหลังทำหน้าที่ป้องกันมิให้ข้าศึกยกทัพเข้าประชิดพระนครจากทางทิศตะวันตกโดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาทำหน้าที่ชลอกองทัพของข้าศึก
 
 
 
จากภาพชุดที่2 แสดงผังของพระบรมหาราชวัง และเขตพระราชฐานต่างๆในช่วงสมัยรัชกาลที่5คือ สีเทาคือเขตพระราชฐานชั้นนอก สีเขียวคือเขตพระราชฐานชั้นกลาง สีเหลืองคือเขตพระราชฐานชั้นใน
 
 
     แรกเริ่มการสร้างพระบรมหาราชวังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกำแพงวัง อาคารสถานที่ และพระตำหนักต่างๆล้วนแต่สร้างขึ้นจากไม้ทั้งหมด เพื่อให้ทันงานพระราชพิธีปราบดาภิเษกเพื่อขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่1แห่งพระราชวงศ์จักรีตามโบราณราชประเพณี แล้วโปรดให้แบ่งที่ดินของพระบรมหาราชวังออกเป็น3ส่วน เพื่อเป็นการจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอยและความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆของชาววังคือ
 
1.เขตพระราชฐานชั้นนอก ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระบรมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของอาคารที่ทำการ หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมถึงวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย
 
2.เขตพระราชฐานชั้นกลาง ตั้งอยู่ตรงส่วนกลางของพระบรมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของหมู่พระมหามณเฑียรและ หมู่พระมหาปราสาท ที่ใช้สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ให้ขุนนางทูตานุทูตเข้าเฝ้ารวมไปถึงประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ
 
3.เขตพระราชฐานชั้นใน ตั้งอยู่บริเวณในสุดของพระบรมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของตำหนักที่ประทับของเหล่าพระมเหสี พระราชธิดา พระราชวงศ์ฝ่ายหญิง สนมนางใน ข้าหลวง ข้าราชสำนัก ดังนั้นเขตพระราชฐานชั้นในนี้จึงเปรียบเสมือเมืองของผู้หญิงที่อยู่รวมกันนับพันคน
 
ประตูวังรอบนอก
 
 
     ใครได้ผ่านไปแถวพระบรมหาราชวังหรือได้เข้าชมภายใน ก็จะต้องพบเห็นกับประตูพระบรมหาราชวังที่ตั้งเรียงรายไปตามกำแพงพระบรมหาราชวัง ซึ่งประตูวังเหล่านี้สร้างขึ้นตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์บ้าง สร้างเพิ่มเติมในรัชกาลต่อมาบ้าง ซึ่งประตูพระบรมหาราชวังแต่ละประตูก็มีหน้าที่สำหรับการเข้าออกที่แตกต่างกันออกไป จะเข้าออกตามใจตนนั้นเห็นจะไม่ได้ ซึ่งชาววังรวมถึงพระราชวงศ์ก็จะปฏิบัติตามกฎนี้อย่างเคร่งครัดมาจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง ประตูพระบรมหาราชวังนั้นสามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ประเภทดังนี้
 
**ประเภทที่1 ประตูพระบรมหาราชวังรอบนอก ประตูประเภทนี้จะทอดไปตามกำแพงวังติดกับถนนทั้ง4ทิศของพระบรมหาราชวัง ซึ่งหากเราสัญจรไปมาก็จะสามารถพบเห็นได้ทันที ประตูพระบรมหาราชวังรอบนอกนี้มีทั้งหมด 13 ประตู คือ
 
1.ประตูสุนทรทิศา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือบริเวณมุมกำแพงวังฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมใช้เป็นประตูเข้าออกสำหรับพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า(ผู้ชาย) ที่จะเสด็จเข้าพระบรมหาราชวัง แต่ปัจจุบันประตูนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้แล้วเพราะด้านในมีอาคารปิดขวางทางเข้าออก
 
2.ประตูวิมานเทเวศร์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระบรมหาราชวัง เป็นประตูที่ใช้สำหรับทูตอัญเชิญพระราชสารขอเจริญสัมพันธไมตรีจากต่างประเทศ
 
 
จากภาพชุดที่1 ภาพประตูวังที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของพระบรมหาราชวัง
 
3.ประตูวิเศษไชยศรี ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระบรมหาราชวัง ใช้สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้า-ออก ไปยังพระที่นั่งต่างๆ ถือว่าเป็นประตูหลักของพระบรมหาราชวัง และปัจจุบันก็เป็นประตูทางเข้าสำหรับนักท่องเที่ยวเข้าชมพระบรมหาราชวังอีกด้วย ประตูนี้มีความพิเศษอีกอย่างคือ เราสามารถมองเห็นพระที่นั่งจักรีจากประตูนี้
 
4.ประตูมณีนพรัตน์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ประตูนี้จะปิดอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นประตูที่สงวนไว้สำหรับ พระมเหสี พระสนมนางในเท่านั้น เพื่อเป็นเส้นทางเสด็จออกไปงานพระราชพิธียังท้องสนามหลวง ซึ่งเมื่อมีการเสด็จก็จะใช้ผ้าขาวขึงทั้งสองข้างเป็นทางเดินยาวไปจนถึงปะรำพิธีป้องกันไม่ให้บุรุษหรือชายสามัญชนเห็นพระพักตร์ได้
 
5.ประตูสวัสดิโสภา เป็นประตูตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมหาราชวัง ติดกับวัดพระแก้ว ซึ่งในอดีตนั้นประตูนี้จะเปิดเฉพาะวันพระและวันอาทิตย์เพื่อสำหรับให้ประชาชนได้เข้าไปนมัสการพระแก้วมรกตได้โดยสะดวก
 
6.ประตูเทวาพิทักษ์ เป็นประตูตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมหาราชวัง ตรงข้ามกับวังสราญรมย์ ใช้สำหรับเข้าไปยังสวนศิวาลัย เพราะแต่เดิมนั้นคือหมู่พระอภิเนานิเวศ เป็นสถานที่ตั้งของพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เก่า ปัจจุบันคือประตูเสด็จเข้าตำหนักที่ประทับของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ
 
 
จากภาพชุดที่2 ภาพประตูวังที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมหาราชวัง
 
7.ประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์ เป็นประตูตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมหาราชวัง ในอดีตนั้นใช้เป็นเส้นทางเสด็จของพระเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์มิให้มีชายใดปะปนเพราะเป็นการเสด็จพร้อมกับเหล่ามเหสีนางใน เพื่อทรงพระสำราญยังสวนสราญรมย์คล้ายกับประตูมณีนพรัตน์ ประตูนี้ยังมีความสำคัญมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เพราะเป็นประตูสำหรับเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระบรมหาราชวังสำหรับพิธีรับการถวายพระราชสาส์น ถวายตราตั้งจากทูตต่างประเทศ
 
8.ประตูวิจิตรบรรจง อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระบรมหาราชวังตรงข้ามกับทางเข้าพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ประตูนี้ถ้าไม่จำเป็นจะไม่เปิดออกเป็นอันขาด เพราะเป็นประตูสำหรับเชิญพระศพของเจ้านายฝ่ายหญิงออกไปจัดงานยังหอนอกพระบรมหาราชวังเท่านั้น
 
9.ประตูอนงคารักษ์ ถัดจากประตูวิจิตรบรรจงมาไม่ไกลนัก ประตูนี้ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่เปิดออกเช่นกัน เพราะเป็นประตูสำหรับเชิญศพคนตายที่เป็นเหล่าข้าหลวง สนม นางใน ข้าราชการผู้หญิง หรือเรียกง่ายๆก็คือศพที่ไม่ใช้พระราชวงศ์นั้งเอง
 
 
จากภาพชุดที่3 ภาพประตูวังที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระบรมหาราชวัง
 
10.ประตูพิทักษ์บวร ตรงข้ามกับวิหารพระนอนวัดพระเชตุพนฯ ใช้สำหรับเป็นทางเสด็จของเหล่ามเหสีนางในเพื่อเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆภายในวันพระเชตุพนฯ ซึ่งเมื่อมีการเสด็จก็จะใช้ผ้าขาวขึงทั้งสองข้างเป็นทางเดินยาวไปจนถึงประตูวัดตามกฎมณเฑียรบาลที่มิให้ชายใดเห็นพระพักตร์
 
11.ประตูช่องกุด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระบรมหาราชวัง ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับอาคารสโมสรข้าราชบริพาร ประตูนี้ใช้สำหรับสามัญชนบุคคลภายนอกหรือชาววังทั่วไปเข้าออก(ประตูที่คุณเปรมแอบดูแม่พลอย)
 
 
จากภาพชุดที่4 ภาพประตูวังที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระบรมหาราชวัง
 
12. ประตูอุดมสุดารักษ์ประตูนี้เป็นประตูสำหรับเหล่ามเหสีนางในเสด็จลงท่าราชวรดิษฐ์เพื่อเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ หรืองานลอยพระประทีป หรืองานพระราชกุศลต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการเสด็จก็จะใช้ผ้าขาวขึงทั้งสองข้างเป็นทางเดินยาวไปถึงท่าราชวรดิษฐ์ตามกฎมณเฑียรบาล
 
13.ประตูเทวาภิรมย์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่าประตูท่าขุนนาง ประตูนี้เป็นประตูสำหรับพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศ์ฝ่ายชายหรือเหล่าขุนนางข้าราชการผู้ชาย ไปท่าราชวรดิษฐ์เพื่อเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ หรืองานพระราชกุศลต่างๆ
 
แสดงผังที่ตั้งของประตูรอบนอกพระบรมหาราชวัง
(สีแดงคือประตูวัง สีแดงกรอบขาวคือประตูวังเข้าออกของเหล่ามเหสีนางใน)
 
     ข้อสังเกตคือ ทุกด้านของพระบรมหาราชวังจะมีประตูเข้าออกสำหรับพระราชวงศ์ฝ่ายหญิงเป็นเฉพาะ เนื่องจากในอดีตนั้นกฏมณเฑียรบาลในข้อนี้ค่อนข้างเข้มงวดเลยทีเดียว คือ จะให้เจ้านายฝ่ายหญิงทรงพระดำเนินอยู่บนถนนโดยใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการผิดกฏมณเฑียรบาล ดังนั้นประตูสำหรับเจ้านายฝ่ายหญิงจะตรงกับประตูของสถานที่สำคัญๆเสมอเพื่อย่นระยะทาง เช่น 4.ประตูมณีนพรัตน์จะตั้งอยู่ส่วนโค้งสุดของสนามหลวง 7.ประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์ จะตั้งอยู่ตรงกับทางเข้าสวนสราญรมย์ 10.ประตูพิทักษ์บวรใกล้กับประตูวิหารพระนอนวัดพระเชตุพนฯ 12.ประตูอุดมสุดารักษ์จะอยู่ตรงข้ามกับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย บริเวณท่าราชวรดิฐพอดี
 
 
 
     การเสด็จของเหล่ามเหสีนางในจะใช้ผ้าขาวขึงทั้งสองข้างเป็นทางเดินยาวไปจนถึงประตูของสถานที่ที่จะเสด็จในระยะทางอันใกล้ เพื่อป้องกันมิให้บุรุษสามัญชนหรือชายใดได้ยลโฉมพระพักตร์ ซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลอย่างเคร่งครัด จากภาพคือ พระสุริโยทัย เสด็จขึ้นจากเรือพระประเทียบ ขึ้นยังท่าและเสด็จเข้าฉนวนผ้าขาวเพื่อเปลี่ยนไปนั่งพระเสลี่ยงแทน ครั้งตามเสด็จสมเด็จพระอทิตยาราชเจ้าเข้าชมพิธีคล้องช้าง จากภาพยตร์เรื่องสุริโยทัย กำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล
 
 
เครดิต : คลังประวัติศาสตร์ 

 


Admin : Chanya
view
:
11240

Post
:
2014-10-22 14:52:20


ร่วมแสดงความคิดเห็น