“ภาษีท่องเที่ยว” เรื่องที่ต้องรู้ สำหรับคนชอบเที่ยว
2014-10-22 12:25:18

 

 
 
     หลายคนที่ยังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับมันเท่าไรนักว่า "ภาษีท่องเที่ยว" นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่แกะกล่องในสังคมไทย แต่วันนี้จะมาอธิบายให้ทุกๆคนเข้าใจว่ามันคืออะไรกันแน่ และมันมีความหมายอะไรในการท่องเที่ยว ไม่ใช่พอว่าได้ยินคำว่าภาษีหรือตัวเลขอะไรแบบนี้แล้วเบนหน้าหนีกันหมด
 
      "ภาษีท่องเที่ยว" ชื่อก็บอกอยู่ชัดเจนแล้ว แต่ความหมายชวนให้เราเข้าใจผิดไปซักเล็กน้อย ถ้าเราเข้าใจกันว่าเวลาไปเที่ยวแล้วต้องจ่ายเงินมากขึ้น (หมายถึงจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น) แสดงว่าอันนี้เราเข้าใจกันผิดแบบกลับหัวกลับหางเลย 
 
 
 
     จริงๆแล้ว "ภาษีท่องเที่ยว" คือภาษีที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวกันมากขึ้น ใช้จ่ายเงินกันมากขึ้น เงินจะได้หมุนเวียนไปสู่ส่วนๆต่างในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ทีนี้เมื่อจ่ายเงินกันมากขึ้นก็หมายความว่ารัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น มีเงินไปพัฒนาประเทศต่อได้
 
แล้วทีนี้มันมาเกี่ยวกับบุคคลเดินดินกินบะหมี่เกี๊ยวหน้าเซเว่นได้อย่างไร
 
ไม่มีอะไรให้เข้าใจยาก ก็แค่ว่าเงินทุกบาท ทุกสตางค์ ที่เราเริ่มจ่ายเข้าไปในระบบการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าเรือ ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก หรืออะไรก็ตาม เมื่อเราจ่ายไปแล้วรัฐบาลจะคืนเงินบางส่วนให้เรานั่นเอง โดยจะมาในรูปของการลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีนั่นเอง (ไม่ได้คืนเงินสดให้เรานะ) 
 
     แต่ทั้งทีนี้เพดานของการใช้จ่ายในการเที่ยวอยู่ที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น และทุกการใช้จ่ายต้องมีใบกำกับภาษีที่เป็นทางการ (มีเลขคนทำการค้าและเลขผู้เสียภาษีนั่นเอง) พูดง่ายๆคนบ้านๆที่ขายของให้เราแบบยื่นหมูยื่นแมวอันนี้ไม่น่าจะใช้ได้นะ ต้องเป็นการใช้จ่ายในธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกระเบียบนิ้ว
 
เรามาลองดูฐานภาษี อัตราภาษีใหม่ เริ่มใช้ปี 2557
 
 
 
        มีทั้งหมด 7 ขั้น เริ่มจากเงินได้สุทธิ 
 
     0-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
     เงินได้สุทธิ 300,001 ถึง 500,000 บาท อัตราภาษี 10%
     เงินได้สุทธิ 500,001 ถึง 750,000 บาท อัตราภาษี 15%
     เงินได้สุทธิ 750,001 ถึง 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
     เงินได้สุทธิ 1,000,001 ถึง 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
     เงินได้สุทธิ 2,000,001 ถึง4,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
     เงินได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
 
สรุปให้เห็นภาพกันดีกว่า ลองมาดูกัน สมมติถ้าปีนี้เรามีใบเสร็จที่เก็บได้ 15,000 บาทพอดี
 
     ถ้าฐานภาษีเรา 5%       ก็ได้เงินภาษีกลับมา     750 บาท
     ถ้าฐานภาษีเรา 10%     ก็ได้เงินภาษีกลับมา     1,500 บาท
     ถ้าฐานภาษีเรา 15%     ก็ได้เงินภาษีกลับมา     2,250 บาท
     ถ้าฐานภาษีเรา 20%     ก็ได้เงินภาษีกลับมา     3,000 บาท
     ถ้าฐานภาษีเรา 25%     ก็ได้เงินภาษีกลับมา     3,750 บาท
     ถ้าฐานภาษีเรา 30%     ก็ได้เงินภาษีกลับมา     4,500 บาท
 
    ยกตัวอย่าง ถ้ามีฐานเงินเดือนที่ 5% ปีนี้ ไปเที่ยวทั้งปี จ่ายไปทั้งหมด 15,000 พอดี ตอนปลายปี ก็สามารถที่จะลดภาษีของตัวเองได้อีก 750 บาทนั่นเอง (คิดซะว่าได้กาแฟสตาร์บั๊คฟรีสักครึ่งโหลก็ได้)
 
    หรือถ้าคนที่มีฐานภาษีที่ 10% แล้วได้ไปพักรีสอร์ทหรูคืนละ 15,000 บาท ก็เสมือนกับว่ารีสอร์ทนั้นเสนอโปรโมชั่นสุดพิเศษเหลือราคาคืนละ 13,500 บาทนั่นเอง (หักลดหย่อนภาษีไป 1,500 บาท)
 
     นโยบายของรัฐบาลรอบนี้เราไม่เสียอะไรเลย มีแต่ได้ เพราะฉะนั้นน้ำขึ้นให้รีบตักนะ 
สรุปสุดท้ายไม่มีอะไรมากกว่าว่า ให้เราเริ่มต้นเก็บใบเสร็จกันได้แล้ว ณ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
 
(ความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อเรื่องนี้)
 

คำถามที่พบบ่อย หมอๆตะลุยโลก ได้ตอบคำถามไว้ ดังนี้

 

1.)เริ่มใช้ได้เมื่อไร
 
ตอบ 1.) เริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปัจจุบันจนเดือนธันวาคมนี้ เพื่อลดหย่อนในปีภาษี 2558
       2.) และยังใช้ได้ต่อเนื่องใน เดือนมกราคมถึงธันวาคมปีหน้า เพื่อลดหย่อนในปีภาษี 2559 
       3.) และใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินที่มีผลใช้ได้คือ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นหลังมีการประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งก็จะเป็นราวๆเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
 
2.) ค่าเดินทาง เช่น น้ำมันรถ ค่าตั๋วรถทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบิน ใช้ได้ไหม
 
ตอบ จากการสอบถามกับ Call center ของกรมสรรพากรแล้ว รายจ่ายบางอย่างที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใช้สำหรับไปเที่ยวหรือธุระส่วนตัวกันแน่ เช่น ค่าน้ำมันแบบนี้อาจจะใช้ไม่ได้ครับ ค่าเครื่องบินก็เช่นกันไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเราใช้บินไปเที่ยวหรือธุระส่วนตัว ในส่วนนี้จึงอาจจะใช้ไม่ได้ครับ อย่างไรก็ตามคงต้องรายละเอียดที่แน่ชัดคงต้องรอประกาศกันอีกครั้ง
     
     แต่ถ้าเป็นในกรณีที่เราซื้อเป็น package ทัวร์มาซึ่งมีค่าเช่ารถ ค่าโรงแรม ค่าอาหารอยู่ อันนี้คิดว่าค่อนข้างจะใช้ได้แน่นอน เพราะถูกยืนยันด้วยบริษัททัวร์ที่เราจ่ายไปแล้ว
 
3.) ค่าทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศแต่ใช้บริษัททัวร์คนไทย อันนี้หักได้ไหม
 
ตอบ ไม่ได้แน่นอน เพราะค่าใช้จ่ายในการเที่ยวไม่ได้เกิดที่ประเทศไทย
 
4.) การจองที่พักผ่าน Agoda, Booking, Hostelworld สำหรับที่พักในประเทศไทย สามารถใช้ได้หรือไม่
 
ตอบ ต้องบอกก่อนว่า ทุกโรงแรมที่เราไปพักต้องเป็นโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมายคือจดทะเบียนถูกต้อง มีเลขผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง และได้รับการรับรอง ถึงจะใช้ได้ ทีนี้คือเราต้องขอใบเสร็จรับเงินของ Agoda หรือบริษัทอื่นๆมาด้วย (อันนี้สรรพากรยืนยันว่าใช้ได้)
 
5.) สุดท้ายนี้ให้เราเก็บใบเสร็จในทุกๆอย่างเท่าที่เราใช้ไปก่อนนะ ได้ไม่ได้เอาไว้ก่อน เพราะยังไงก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว แล้วปีหน้าที่เราจะต้องยื่นกัน ทางกรมสรรพากรน่าจะมีรายละเอียดที่แน่ชัดเกี่ยวกับการเอาไปหักลดหย่อนแบบชัดแจ้ง
 
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องของการท่องเที่ยวสามารถติดตามต่อได้ที่  "หมอๆตะลุยโลก"
https://www.facebook.com/Worldwantswandering

Admin : Chanya
view
:
2964

Post
:
2014-10-22 12:25:18


ร่วมแสดงความคิดเห็น