6 วิธีป้องกัน และ 6 วิธีปฏิบัติตัว เมื่อเป็นโรค ‘ตาแดง’
2014-09-20 11:10:41

 

6 วิธีป้องกัน และ 6 วิธีปฏิบัติตัว เมื่อเป็นโรค ‘ตาแดง

“โรคตาแดง” ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ แต่เรามักเข้าใจข้อมูลผิดๆ !!!

เชื่อได้ว่าเกือบทุกคนอาจจะต้องเคยผ่านประสบการณ์การเป็นโรคตาแดงกันมาบ้าง และที่จะมีการพูดถึงเป็นประจำสมัยตอนเป็นเด็กก็คือ เมื่อเพื่อนเป็นโรคตาแดงแล้วห้ามมองตากัน จะทำให้เกิดอาการติดต่อ รวมไปถึงให้แลบลิ้นใส่คนที่เป็นตาแดงแล้วจะได้ไม่เป็นตาแดงกับเขาด้วย

เรียกได้ว่าเป็นคำพูดที่ชวนให้เข้าใจผิดกันไปไกล ทั้งที่ “โรคตาแดง” นั้น เกิดจากการที่ดวงตามีการสัมผัสกับเชื้อโรค ซึ่งอาจเกิดจากการเอามือไปสัมผัสกับเชื้อโรคตามโต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกันกับคนเป็นตาแดงที่ใช้มือสัมผัสตาแดงของตนแล้วยังไม่ได้ล้างมือ แล้วมาสัมผัสตาตัวเองต่อ ไม่ได้เกิดจากการจ้องมองตากันแล้วเชื้อโรคกระโดดก็ใส่ดวงตาแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องไปแลบลิ้นใส่คนที่เป็นตาแดงด้วย ทั้งนี้ โรคตาแดงเป็นการอักเสบของเยื่อบุตาขาว อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

โดยทั่วไปแล้ว “โรคตาแดง” จะมีอาการเจ็บเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหลหรือมีขี้ตา บางคนมีเยื่อบุตาขาวบวม อาจเริ่มเป็นตาเดียวก่อน แล้วค่อยลามไปตาอีกข้าง ซึ่งสามารถแยกสาเหตุตาแดงออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. ตาแดงจากเชื้อไวรัส มักจะไม่ค่อยมีขี้ตา แต่มีน้ำตาไหล เคืองตามาก อาจมีต่อมน้ำเลืองที่หน้าหูโต มักเริ่มเป็นที่ตาใดตาหนึ่งก่อน และลามไปเป็นทั้งสองตาอย่างรวดเร็ว มีประวัติติดต่อกันในคนหมู่มากหรือจากที่ทำงาน โรงเรียน หรือในครอบครัว มักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์

2. ตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีขี้ตาเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง อาจเป็นตาเดียวหรือสองตาก็ได้ ติดต่อกันได้เช่นกัน แต่จะระบาดน้อยกว่าตาแดงจากเชื้อไวรัส 

3.ตาแดงจากโรคภูมิแพ้ จะมีอาการคันตามาก น้ำตาไหล อาจมีขี้ตาขาวหรือเหนียว หนังตาบวม มักมีประวัติเป็นๆ หายๆ อาจมีสาเหตุของการแพ้ชัดเจนหรือมีอาการแพ้ของร่างกายส่วนอื่น เช่น หอบหืดร่วมด้วย เป็นต้น โดยทั่วไปโรคตาแดงมักไม่ทำให้ปวดตามาก หรือตามัว

ดังนั้น หากคนที่เป็นตาแดงแล้วมีอาการปวดตา ตาแดงมาก ตามัว หรือมองสู้แสงไม่ได้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นโรคอื่น เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ซึ่งถ้ารักษาช้าอาจเกิดความพิการอย่างถาวรของตาได้

สำหรับวิธีการป้องกันโรคตาแดงนั้นสามารถทำได้โดย

1. ไม่ใช้มือสัมผัสตา หรือขยี้ตาเพราะเชื้อโรคอาจติดไปยังสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ได้

2. ผู้ป่วยไม่ควรจับต้องและใช้สิ่งของเครื่องใช้ ปะปนกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ แว่นตา เครื่องสำอาง เป็นต้น

3. ไม่สัมผัสมือหรือตาผู้ป่วย

4. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งที่เผลอถูกตา รวมทั้งก่อนและหลังหยอดตา

5. ไม่พูดไอจามรดผู้อื่น 

6. แยกผู้ป่วย เช่นเด็กเล็กที่ยังไม่รู้จักป้องกันการแพร่กระจายโรค ควรให้หยุดเรียน และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ควรหยุดงาน

ส่วนการรักษานั้นหากเกิดจากเชื้อไวรัส มักจะหายได้เอง 1-2 สัปดาห์ แต่การประคบเย็นที่ตาจะช่วยให้สบายตาขึ้น หรือใช้ยาหยอดตากลุ่มยาต้านฮีสตามีน เมื่อมีอาการวันละ 3-4 ครั้ง ช่วยลดอาการระคายเคืองตา ถ้าเริ่มมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ให้หยอดยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกับตาแดงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยเมื่อหยอดยา 2 ชนิดพร้อมกันจะต้องทิ้งช่วงห่างประมาณ 5 นาที เพื่อไม่ให้ยาล้างกันออกก่อนซึมเข้าตา ที่สำคัญไม่ควรหยดยาที่มีสเตียรอยด์ เพราะจะทำให้หายช้า และอาจมีการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน 

โรคตาแดงจากเชื้อปฏิชีวนะ ควรทำความสะอาดตา ขี้ตา และใช้ยาหยอดตาที่มียาปฏิชีวนะวันละ 4 ครั้งจนไม่มีขี้ตา แต่ต้องระวังการแพ้ยา โดยหากมีอาการหนังตาบวมแดง ให้หยุดยาและรีบนำยามาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าเกิดจากการแพ้ยาหรือไม่ ถ้าใช่ต้องจดจำชื่อยาที่แพ้ไว้ เพื่อเลี่ยงการหยอดตานั้นในครั้งต่อไป นอกจากนี้ เมื่อเป็นโรคตาแดงแล้ว วิธีที่ควรปฏิบัติก็คือ

1. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสน้ำตา ขี้ตา รวมทั้งก่อนและหลังหยอดยา

2. พักผ่อนให้เพียงพอ

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นเป็นเวลา 7 วันหลังมีอาการเพื่อลดการแพร่เชื้อ

4. ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น

5. ไม่แนะนำให้ใช้ผ้าปิดตาเพราะจะยิ่งทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้มากขึ้น

6. เปลี่ยนปลอกหมอนทุกวัน

หมายเหตุ เพิ่มเติม : ข้อควรรู้  "ตาแดงอย่างไรอันตราย" โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และจากโรคภูมิแพ้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นตาบอด ข้อสังเกตคือเมื่อเป็นตาแดงจะต้องไม่มีอาการตามัวลง แต่ถ้ามีอาการตาแดงร่วมกับการมองเห็นลดลงหรือตามัว ให้ระวังว่าอาจเกิดจากโรคตาที่อันตราย ถ้ามีอาการดังนี้แล้วมีขี้ตา อาจเกิดจากการเป็นหนองที่กระจกตา หรือการติดเชื้อรุนแรงในลูกตา ถ้าไม่มีขี้ตาอาจเกิดจากกระจกตาอักเสบหรือม่านตาอักเสบ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปพยจักษุแพทย์ 

นอกจากนี้ นั้น "ภาวะตาแดงอาจเกิดจากเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว" มักเกิดจากการเผลอไปขยี้ตา อาจเพิ่งสังเกตเห็นในตอนตื่นนอนลักษณะตาเป็นปื้นสีแดงสดที่บริเวณตาขาว ไม่มีอันตราย เลือดจะไม่เข้าตาดำ ไม่ทำให้ตามัวและไม่ติดต่อกัน แนะนำว่าอย่าขยี้ตา อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตาวันละ 10 นาที เลือดมักค่อยๆ จางและหายสนิทใน 10-14 วัน

 

ดูแลสุภาพ "ตา" และระมัดระวังตนเอง พร้อมทั้ง บุตรหลานของท่าน ด้วยนะครับ ^ ^

 

(ขอขอบคุณข้อมูลจากคู่มือสุขภาพตาดีสำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ จัดทำขึ้นโดยภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ขอบคุณ .thaihealth.or.th พร้อมแหล่งที่มาจาก เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ .และ krotron.com ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต horoscope.thaiza.com , laservisionthai.com และ healthcarethai.com : ทีมงาน tartoh.com นำเสนอ


Admin : Tartoh
view
:
2881

Post
:
2014-09-20 11:10:41


ร่วมแสดงความคิดเห็น