9 สุดยอดเครื่องรางของขลัง แห่งสยามประเทศ ตอนที่9 (ตอนจบ) เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง
2014-09-13 13:30:00

"เบี้ยแก้" อันนับเป็นเครื่องรางของขลังที่เกิดจากภูมิปัญญาพระเกจิคณาจารย์ของไทยโดยแท้ การสร้างสรรค์คัดเลือก "หอยเบี้ยจั่น" ที่ต้องมีฟันครบ 32 มาลงคาถาอาคม กรอกปรอทลงในตัวเบี้ย ปิดปากด้วยชันโรง ห่อด้วยแผ่นตะกั่ว ลงอักขระเลขยันต์ ห่อหุ้มด้วยด้ายถัก ปิดท้ายด้วยการลงรักเพื่อการเก็บรักษา ทุกขั้นตอนดังกล่าวจะต้องมีการบริกรรมคาถาเพื่อสร้างความเข้มขลังตลอดพิธีกรรม โดยแต่ละเกจิก็จะมีเคล็ดวิชาอาคมที่แตกต่างกันไป

 

สำหรับความเข้มขลังของ "เบี้ยแก้" ก็คือ การแก้การป้องกันคุณไสย สิ่งเลวร้ายต่างๆ ไม่ให้เข้ามากล้ำกราย รวมถึงเมตตามหานิยม

 

เบี้ยแก้ที่ขึ้นชื่อลือชายิ่ง ก็คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง เพราะนับเป็นเบี้ยแก้ที่มีความเก่าแก่ ทรงพุทธคุณ ล้ำเลิศ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคี สุดยอดเครื่องรางของขลังมหานิยมของไทย

 

หลวงปู่รอด เป็นชาวบ้านบางพรหม อำเภอตลิ่งชัน เป็นพระคณาจารย์ร่วมสมัยกับ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อุปสมบทที่วัดเงิน (วัดรัชฎาธิษฐาน) ในคลองบางพรหม ซึ่งเป็นสำนักวิปัสสนาที่มีชื่อลือเลื่องมากในสมัยนั้น ต่อมาย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรงจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สอง ด้วยความที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระชั้นสูง อีกทั้งด้านพุทธาคมและเวทวิทยาคมเป็นเลิศ ท่านจึงเป็นเถราจารย์ที่มีความสำคัญเป็นที่เคารพศรัทธารูปหนึ่งในย่านคลองบางกอกน้อย ว่ากันว่าท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาเรื่อง "เบี้ยแก้" มาจาก หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ ซึ่งเป็นพระธุดงค์มาจากลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ที่มีความรู้ความชำนาญด้านวิทยาคมหลายๆ ด้าน

กรรมวิธีสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดนั้น จะใช้วัตถุอาถรรพ์ต่างๆ เป็นองค์ประกอบ อันได้แก่ เบี้ยพู ปรอท ชันโรงใต้ดิน (เป็นสัตว์ตระกูลผึ้งนำรังมาใช้ผสมสร้าง) โดยท่านจะคัดตัวเบี้ยให้มีฟันครบ 32 ซี่ บรรจุปรอทแล้วอุดด้วยชันโรงใต้ดิน หุ้มด้วยแผ่นตะกั่ว บางตัวก็หุ้มหมดทั้งตัว บางตัวหุ้มเปิดที่ด้านหลังเบี้ยไว้ บางตัวไม่มีตะกั่วหุ้มก็มี บางตัวอาจจะใช้ผ้ายันต์หุ้มแทนตะกั่วก็มี

 

ตะกั่วที่หุ้มเบี้ยหลวงปู่จะลงอักขระ "พระเจ้า 16 พระองค์" และ "ยันต์ตรีนิสิงเห" แล้วจึงปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง "เบี้ยแก้หลวงปู่รอด" นั้น ส่วนใหญ่มักถักเชือกกันเอาไว้ แล้วจึงลงรัก หรือลงยางมะพลับไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อความคงทนของเชือกถัก เบี้ยบางตัวอาจจะมีการลงรักปิดทองไว้ด้วย มีทั้งแบบมีห่วงและแบบไม่มีห่วง เบี้ยบางตัวมีการสร้างแบบพิเศษคือ ที่ด้านใต้ท้องเบี้ยมีการบรรจุตะกรุดไว้ด้วย ซึ่งถือว่าหาดูได้ยากยิ่ง

และถ้าลองสังเกตเบี้ยแก้ของ "วัดนายโรง" กับ "วัดกลางบางแก้ว" จะเห็นว่ามีลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งขนาดที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะได้วิชามาจากทางลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีเหมือนกันก็เป็นได้ เพราะเมื่อเทียบเคียงอายุอานามของหลวงปู่แขกและหลวงปู่ทองแล้วน่าจะเป็นพระเกจิรุ่นเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับการถ่ายทอดมาจากสำนักเดียวกัน

 

สุดยอด สุดยอด สุดยอด ไม่รู้จะบอกยังไงดี บอกได้แค่ สุดยอดมากๆเลย กับ ตำนานของวัตถุมงคลโบราณต่างๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ  ความเชื่อนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับคือ

1.ศรัทธา

2.ความเชื่อ

3.งมงาย

จะศรัทธาอะไร อยู่ที่ใจเป็นหลักนะครับ แต่ถ้ามากจนเกิน มันจะกลายเป็นงมงาย  วัตถุมงคลสร้างมาเพื่อช่วยเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตครับ ไม่ได้สร้างมาเพื่อกู้โลก ทุกสิ่งนั้นหมุนวนและเป็นไปตามกรรม อ่านตาโตดอทคอมจบแล้ว หาเวลาทำบุญ เสริมบารมีกันบ้างนะครับ ด้วยรักและปรารถนาดีจาก ตาโตดอทคอม 


Admin : Rapin
view
:
4984

Post
:
2014-09-13 13:30:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น