แมงมุมมีพิษที่มีอยู่ในประเทศไทย และอาการที่แสดงหลังถูกกัด
2014-07-22 12:46:45

สืบเนื่องมาจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวหนุ่มเมืองแพร่ถูกแมงมุมมีพิษกัด อาการสาหัสแพทย์ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใหล้ชิดในห้องไอซียู วันนี้ทางแอดมินจึงขอนำบทความดี ๆ ของ ดร. นพ.เวสารัช เวสสโกวิท และ พญ. เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก จากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกับแมงมุมมีพิษชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถสังเกตุและแยกแยะได้

 

ซึ่งแมงมุมพิษในประเทศไทยนั้นตามปกติมีมีอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นแมงมุมพิษจากต่างประเทศที่ผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกนำเข้ามา มีอยู่ 3 ประเภท คือ แมงมุมแม่ม่ายดำ , แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล

 

1. แมงมุมแม่ม่ายดำ

แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Latrodectus mactans เป็นแมงมุมขนาดเล็ก พบได้ในหลายประเทศ แต่มีชุกชุมมากในทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ชื่อของแมงมุมชนิดนี้สื่อถึงพฤติกรรมที่แมงมุมตัวเมียมักจะกินแมงมุมตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์

คนมักถูกกัดได้จากการไปสัมผัสโดยบังเอิญ ส่วนใหญ่พบใยแมงมุมชนิดนี้อยู่ตามมุมประตูหรือหน้าต่าง โรงรถ หรือแม้แต่ในห้องน้ำ จึงอาจทำให้คนถูกแมงมุมกัดบริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย

แมงมุมแม่ม่ายดำตัวเมียจะมีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีสีดำ ตัวกลม ที่ท้องจะมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแดง ส่วนแมงมุมแม่ม่ายดำตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียประมาณ 20 เท่า และมีสีน้ำตาล ไม่พบลักษณะนาฬิกาทรายที่ท้องของตัวผู้

 

แมงมุมแม่ม่ายดำตัวเมีย

 

แมงมุมแม่ม่ายดำตัวเมีย

 

แมงมุมแม่ม่ายดำตัวผู้

 

แมงมุมแม่ม่ายดำชอบอยู่ในที่อับแสง แห้ง ไม่มีลม เช่น ตามรั้ว หรือในกองใบไม้ชอบออกหากินกลางคืน เฉพาะแมงมุมแม่ม่ายดำตัวเมียเท่านั้นที่สามารถกัดมนุษย์ได้ เนื่องจากตัวผู้ตัวมีขนาดเล็กและกรามไม่แข็งแรงพอ สารพิษของแมงมุมแม่ม่ายดำมีชื่อเรียกว่า latrotoxin เป็นพิษที่มีผลหลักต่อระบบประสาท (neurotoxin) โดยพิษจะทำให้เกิดช่องว่างบริเวณปลายเซลล์ประสาท ส่งผลให้แคลเซียมไอออน (Ca2+) ไหลเข้าสู่ปลายเซลล์ประสาทซึ่งเป็นกลไกให้เกิดการปล่อยสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ตลอดเวลา ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งจนเป็นอัมพาต ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณสารพิษที่ได้รับ พิษมีความรุนแรงกว่าพิษงูส่วนใหญ่ มักเริ่มแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ 20 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

 

อาการและอาการแสดง

ระยะแรกจะมีแค่อาการผื่นแดง ๆ และปวดบริเวณที่ถูกกัด พบรอยโรคผิวหนังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต่อมาภายใน 30 นาที จึงจะเห็นผิวหนังบริเวณรอบ ๆ แดงขึ้น ร่วมกับมีอาการขนลุก และเหงื่อออก อาจมีอาการชาหรือปวดร้าวบริเวณที่ถูกกัดได้ด้วย อาจมีอาการเป็นตะคริว และมีผื่นลมพิษร่วมด้วย ที่สำคัญ คือ บริเวณที่ถูกกัด จะไม่มีเนื้อตายเกิดขึ้น

 

รอยโรคที่ถูกแมงมุมแม่ม่ายดำกัด

 

อาการรุนแรงมักพบในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ

เนื่องจากพิษของแมงมุมชนิดนี้มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้สามารถพบอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้องรุนแรงจนบางครั้งสับสนกับอาการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ, หรือการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางเดินน้ำดี หรือมีอาการปวดหน้าอกจนอาจคล้ายคลึงกับอาการหัวใจขาดเลือดได้ 

นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, ปวดกล้ามเนื้อ, ความดันโลหิตสูง, น้ำตาและน้ำลายไหล, เหงื่อออกทั่วตัว, มือสั่น และชัก ในผู้ป่วยบางราย อาจพบความดันโลหิตสูงขึ้น ไตวายเฉียบพลัน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

การรักษา

ควรรีบมาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากควรได้รับการประเมินอาการทางระบบประสาทโดยแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศไทย (ในต่างประเทศจะมียาต้านฤทธิ์ของพิษแมงมุม (anti-venin) ซึ่งใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แต่อาจทำให้เกิดการแพ้น้ำเหลืองม้าอย่างรุนแรงได้ จึงต้องทำการทดสอบผิวหนังก่อนฉีดยาต้านดังกล่าว)

การรักษาในปัจจุบัน คือ หากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย อาจใช้การประคบน้ำอุ่นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด การให้ยา calcium gluconate ทางหลอดเลือด, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาแก้ปวด และยากล่อมประสาทกลุ่ม benzodiazepine ให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ รอให้พิษหมดไปเอง และอาจต้องได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วย

 

2. แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล

แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล (brown widow spider) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Latrodectus geometricus มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นได้มีการกระจายกว้างออกไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลีย รายงานพบที่ทวีปเอเชียโดยเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและอินเดีย ในประเทศไทยมีรายงานพบที่จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร ชัยนาท ระยอง จันทบุรี นครราชสีมา และหนองบัวลำภู

แมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหนีเข้าหาซอกที่กำบังในรังนอนของมันหรือทิ้งตัวลงไปแกล้งตายที่พื้น ทำให้แมงมุมชนิดนี้มีโอกาสกัดคนน้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกัดเกิดจากไปสัมผัสหรือกดทับตัวแมงมุมให้ได้รับบาดเจ็บจึงถูกกัด

แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลมีขนาดเล็กว่าแมงมุมแม่ม่ายดำเล็กน้อย มีสีน้ำตาล ตัวกลม ที่ท้องจะมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีส้มหรือสีเหลือง และขาเป็นสีน้ำตาลสลับขาว

 

แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล ที่ใต้ท้องจะมีรูปนาฬิกาทรายสีส้ม

 

แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล ที่ใต้ท้องจะมีรูปนาฬิกาทรายสีส้ม

 

แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล ที่ใต้ท้องจะมีรูปนาฬิกาทรายสีส้ม

 

พบว่าพิษของแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลนั้นรุนแรงกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบพิษในปริมาณที่เท่ากัน แต่มีเฉพาะแมงมุมตัวเมียเต็มวัยเท่านั้นที่สามารถกัดผ่านผิวหนังมนุษย์ได้ ส่วนแมงมุมตัวผู้และแมงมุมตัวเมียที่ยังไม่เต็มวัยมีเขี้ยวที่เล็กและสั้นจนไม่สามารถกัดผ่านผิวหนังของคนได้ และแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลจะปล่อยพิษในการกัดแต่ละครั้งน้อยมาก ในขณะที่แมงมุมแม่ม่ายดำจะปล่อยพิษทั้งหมดในการกัดแต่ละครั้ง จึงทำให้ส่วนใหญ่มีอาการปวดเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด

 

อาการและอาการแสดง

ด้วยเป็นพิษทางระบบประสาท (neurotoxic venom) ก่อให้เกิดอาการเกร็งกระตุกและตะคริว มักมีอาการเฉพาะบริเวณที่โดนกัน ไม่ค่อยกระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย ส่วนใหญ่จะสร้างความเจ็บปวดในบริเวณที่โดนกัดคล้ายถูกผึ้งต่อยเท่านั้น มีโอกาสน้อยที่ทำให้ปวดทั่วทั้งอวัยวะได้ และพิษจะไม่ทำให้เกิดภาวะเนื้อตายตรงบริเวณที่ถูกกัด

 

การรักษา 

ให้การรักษาแบบเดียวกับการรักษาพิษจากแมงมุมแม่ม่ายดำ

 

3. แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล

แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) เป็นแมงมุมที่พบได้ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Loxosceles reclusa มีขนาดเล็กประมาณ 6-20 มิลลิเมตร (ขนาดเล็กกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำ) ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ขนาดเล็ก มีลักษณะเด่นคือด้านหลังของแมงมุมตรงช่วงศีรษะถึงอก (cephalothorax) จะมีลายสีออกดำรูปคล้ายไวโอลิน โดยด้ามจับหันไปด้านตรงข้ามกับศีรษะ จึงอาจเรียกว่า violin spider หรือ fiddleback spider มีขาเรียวยาวเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว

 

แมงมุมสันโดษสีน้ำตาลตัวเต็มวัย

 

แมงมุมสันโดษสีน้ำตาลตัวเล็ก

 

แมงมุมชนิดนี้ ตัวเมียวางไข่ ครั้งละ 50 ฟอง ใช้เวลาฝักเป็นตัวนาน 1 เดือน โตเต็มที่ในเวลา 1 ปี มีอายุอยู่ได้ 1-2 ปี ชอบอยู่ในที่มืด แห้ง และสงบ เช่นเดียวกับแมงมุมแม่ม่ายดำ กินแมลงเป็นอาหาร และจะออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์อื่นในเวลากลางคืน

มักอาศัยอยู่ในที่มืด ห้องใต้หลังคา พบอยู่ในเสื้อผ้า ตู้เสื้อผ้า รองเท้า และเตียงนอน ซึ่งคนอาจถูกกัดได้ หากไปสัมผัสโดยบังเอิญ

อาการและอาการแสดง

เนื่องจากพิษของแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลประกอบด้วยสารที่ออกฤทธิ์ทั้งทางผิวหนังและทางระบบเลือด 

 

พิษต่อผิวหนัง จะพบว่าบริเวณผิวหนังที่ถูกกัด อาการที่พบอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันแล้วแต่บุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักไม่มีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่เรียกว่า sphingomyelinase D จากแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล ถ้าโดนกัดหลายตัว หลายตำแหน่ง ปริมาณพิษก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรง

เมื่อถูกกัดมักจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่มักเริ่มมีอาการปวดและคันบริเวณที่ถูกกัดหลัง 2-8 ชั่วโมง เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดตายได้ถึงร้อยละ 37 เกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ได้ถึง 25 เซนติเมตร

อาการพบได้ตั้งแต่ บริเวณที่ถูกกัดมีอาการแดงเพียงเล็กน้อย แสบ ๆ คัน ๆ มีตุ่มน้ำ จนถึงเกิดเป็นแผลเนื้อตายได้ ลักษณะจำเพาะทางผิวหนังที่พบได้คือ การพบผื่นที่มี 3 โซน (necrotic cutaneous loxoscelism) ตรงกลางมีสีม่วงคล้ำล้อมรอบด้วยบริเวณที่มีสีขาวซีดกว่าปกติ ถัดออกไปคือผิวหนังที่มีการอักเสบแดงโดยรอบ หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นลุกลามจนกลายเป็นเนื้อตายหรือเกิดเป็นแผลลึกตามมาได้ อาการทางผิวหนังมักรุนแรงกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำกัด

 

เนื้อตายที่เกิดจากแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด ผื่นตรงกลางสีม่วงคล้ำล้อมรอบด้วยบริเวณสีขาวซีด และถัดออกไปคือผิวหนังอักเสบแดงโดยรอบ

 

บริเวณเนื้อตายที่เกิดจากแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด

 

พิษต่อระบบเลือด พิษจะกระจายไปทั่วร่างกายในเวลาเป็นนาที ทำให้เกิดความผิดปกติในหลาย ๆ อวัยวะได้ โดยมีอาการแสดงทำให้เกิดเม็ดโลหิตแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ มีการแข็งตัวของเกร็ดเลือดกระจายทั่วร่างกาย (disseminated intravascular coagulation) อันตรายต่ออวัยวะภายใน

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ

 

การรักษา

หากถูกแมงมุมสันโดษสีน้ำตาลกัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นประกอบด้วย การล้างแผลและการประคบน้ำแข็ง ยกบริเวณที่ถูกกัดให้สูงขึ้น ห้ามทำการนวดหรือประคบด้วยน้ำร้อนหรือการบีบรัดบริเวณแผลโดยเด็ดขาดเนื่องจากจะทำให้พิษแมงมุมกระจาย ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที โดยนำแมงมุมที่กัดไปด้วย

 

เนื่องจากไม่มียาจำเพาะที่ใช้ในการรักษาพิษแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์อาจพิจารณาฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก ยาแก้ปวด แก้คัน ในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนทางโลหิตวิทยา แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่น ๆ เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น 

จะต้องไปติดตามอาการทุกวันอย่างน้อยเป็นเวลา 4 วันหลังถูกกัด เพื่อติดตามอาการแผลเนื้อตายบริเวณที่ถูกกัด

 

สำหรับผู้ที่มีแผลเนื้อตาย ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดรักษาบาดแผล แผลเนื้อตายอาจต้องใช้ระยะเวลาการรักษานานหลายเดือน การผ่าตัดอาจมีประโยชน์ในบางราย แต่ควรรอจนกว่าแผลคงตัวเสียก่อน มีรายงานการรักษาด้วย hyperbaric oxygen, dapsone และ glucocorticoids ซึ่งควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ในรายที่มีอาการทางระบบเลือด เลือดแข็งตัวผิดปกติ อาจต้องให้เลือดและสารที่มีผลทำให้เลือดแข็งตัว ถ้าไตวายอาจจะต้องฟอกไต 

 

การพยากรณ์โรค

อันตรายรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยผู้ที่ถูกกัดและเสียชีวิตมักเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

ที่มา : สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th


Admin : Louksorn
view
:
4607

Post
:
2014-07-22 12:46:45


ร่วมแสดงความคิดเห็น